วันอาทิตย์ที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2555

ระบบการเมืองไทย

การเมืองไทยในปัจจุบัน อยู่ในระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ และประชาธิปไตยระบบรัฐสภา ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขของรัฐบาล และพระมหากษัตริย์ซึ่งทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นประมุขแห่งรัฐ ฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกัน ส่วนฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากอีกสองฝ่ายที่เหลือ การเลือกตั้งในประเทศส่วนใหญ่อยู่ในระบบหลายพรรคฝ่ายบริหารมีนายกรัฐมนตรีเป็นประมุขแห่งอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติของไทยอยู่ในระบบสภาคู่ แบ่งออกเป็นวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร ฝ่ายตุลาการ มีศาลเป็นองค์กรบริหารอำนาจ เป็นองค์กรที่มีอำนาจพิพากษาคดีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายไทย ส่วนใหญ่ ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองอยู่ในระบบหลายพรรค กล่าวคือ ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียวได้อย่างเด็ดขาด จึงต้องจัดตั้ง "รัฐบาลผสม" ปกครองประเทศตั้งแต่โบราณกาล ราชอาณาจักรไทยอยู่ภายใต้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช อย่างไรก็ตาม หลังจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ประเทศไทยจึงอยู่ภายใต้การปกครองระบอบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญเขียนฉบับแรกได้ถูกร่างขึ้น อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยยังคงมีการต่อสู่ระหว่างกลุ่มการเมืองระหว่างอภิชนหัวสมัยเก่าและหัวสมัยใหม่ ข้าราชการ และนายพล ประเทศไทยมีการก่อรัฐประหารขึ้นหลายครั้ง ซึ่งมักเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้อำนาจของคณะรัฐประหารชุดแล้วชุดเหล่า นับจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญและกฎบัตรรวมแล้ว 18 ฉบับ (นับฉบับปัจจุบัน) ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความไร้เสถียรภาพทางการเมืองอย่างสูง หลังจากรัฐประหารแต่ละครั้ง รัฐบาลทหารมักจะยกเลิกรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมและประกาศใช้กฎบัตรชั่วคราว
รัฐธรรมนูญ
กฎบัตรและรัฐธรรมนูญทั้งหมดของประเทศไทยได้ให้การรับรองว่าประเทศอยู่ภายใต้การปกครองแบบราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่ได้มีความแตกต่างกันอย่างมากในสมดุลของการแบ่งแยกอำนาจ รัฐบาลไทยส่วนใหญ่ปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภา อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูฐบางฉบับได้ถูกเรียกว่าเป็นเผด็จการ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2500 ประเทศไทยได้เคยใช้ทั้งระบบสภาเดี่ยวและสภาคู่ และสมาชิกรัฐสภามีทั้งแบบเลือกตั้งและแต่งตั้ง พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งเช่นกัน
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 หรือที่เรียกกันว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน" ได้มีการประกาศใช้หลังจากเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ (พ.ศ. 2535) อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวได้ถูกกล่าวอ้างว่าเป็นต้นเหตุของความยุ่งยากทางการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความโดดเด่นในด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ[1] เช่นเดียวกับความเป็นประชาธิปไตยในตัวกฎหมาย นอกจากนี้ยังบัญญัติให้สมาชิกของทั้งสองสภามาจากการเลือกตั้งทั้งหมด สิทธิมนุษยชนจำนวนมากได้รับการรับรองตามกฎหมาย และมีมาตรการต่าง ๆ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่มีการจัดตั้งองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อตรวจสอบฝ่ายบริหารเป็นครั้งแรก เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา
อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2549 รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 ได้ถูกยกเลิก คณะรัฐประหารได้ประกาศกฎอัยการศึกและรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวขึ้นปกครองประเทศ ซึ่งมีเนื้อหาให้คณะรัฐประหารมีอำนาจที่จะแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ฝ่ายนิติบัญญัติและสภาร่างรัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่าจะมีการควบคุมสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด การปะทะและการชุมนุมทางการเมืองได้เกิดขึ้นอยู่บ้าง และการเปลี่ยนแปลงบรรยากาทางการเมือง คณะรัฐประหารถูกบีบบังคับให้ยินยอมที่จะจัดการเลือกตั้งท้องถิ่นและเทศบาลเป็นปกติ ในปี พ.ศ. 2550 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ได้มีการประกาศใช้ แต่ได้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามาจากคณะรัฐประหารและเป็นเผด็จการอยู่มาก
รัฐบาล
รัฐบาลไทยมีบทบาทขึ้นอย่างชัดเจนในสมัยรัฐชาติอันสถานปนาขึ้นครั้งสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวภายหลังทรงผนวกดินแดนและอาณาจักรภายใต้ปกครองของอาณาจักรสยามขึ้นเป็นสยามประเทศ[2] แบ่งอำนาจออกเป็น 3 ส่วน คือ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ
รัฐสภาไทยเป็นองค์กรบริหารอำนาจนิติบัญญัติ เป็นแบบระบบสองสภา ประกอบด้วย วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร มีสมาชิกรวมกัน 650 คน นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีหน้าที่รับผิดชอบการบริหารราชการแผ่นดิน รวมกันไม่เกิน 36 คน ส่วนศาลไทยเป็นองค์กรบริหารอำนาจตุลาการ แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม ศาลปกครอง และศาลทหาร
ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
นโยบายการต่างประเทศของไทยรวมไปถึงการสนับสนุนอาเซียน เน้นเสถียรภาพในภูมิภาค และให้ความสำคัญกับสัมพันธภาพอันยาวนานกับสหรัฐอเมริกา
ประเทศไทยเข้าไปมีบทบาทเต็มในองค์กรทั้งระดับภูมิภาคและระดับระหว่างประเทศ โดยได้พัฒนาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีการจัดการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงเศรษฐกิจทุกปี ความร่วมมือในภูมิภาคกำลังดำเนินการทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า การธนาคาร การเมืองและวัฒนธรรม ประเทศไทยยังได้ส่งทหารเข้าร่วมในกองกำลังนานาชาติในติมอร์ตะวันออก, อัฟกานิสถาน, อิรัก บุรุนดี และปัจจุบัน ในดาร์ฟูร์ ประเทศซูดานอีกด้วย

                พรรคการเมือง

ประเทศไทยมีระบบพรรคการเมืองอยู่ในระบบหลายพรรค กล่าวคือ มักไม่ค่อยประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลพรรคเดียว การจัดตั้งรัฐบาลจึงต้องอาศัยพรรคการเมืองหลายพรรคที่เรียกว่า "รัฐบาลผสม" ยกเว้นสมัยที่ทักษิณ ชินวัตรเป็นนายกรัฐมนตรีไทย ซึ่งพบว่ารัฐบาลครองเสียงข้างมากในสภาจนไม่จำเป็นต้องอาศัยพรรคร่วมรัฐบาลแต่อย่างใด พรรคการเมืองที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย เป็นต้น

ประวัติศาสตร์การเมืองไทย
ตั้งแต่สมัยสุโขทัยมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นนั้น คนไทยรวมตัวกันอยู่ในลักษณะนครรัฐ โดยยกตัวอย่างเช่นในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ถึงแม้ว่าจะมีกรุงศรีอยุธยาเป็นศูนย์กลางการปกครอง แต่ก็ยังคงมีอำนาจภายในกลุ่มแคว้นต่าง ๆ เช่น สุพรรณบุรี ลพบุรี สุโขทัย เชียงใหม่ และนครศรีธรรมราช ซึ่งหากกลุ่มอำนาจใดที่ครองอำนาจอยู่ในเมืองหลวงเพลี่ยงพล้ำให้แก่กลุ่มอื่น ๆ แล้วก็สามารถถูกชิงอำนาจไปได้เช่นกัน เช่น ราชวงศ์อู่ทองถูกแคว้นสุพรรณบุรีชิงอำนาจไปในสมัยขุนหลวงพะงั่ว[6]
อย่างไรก็ตาม อาณาจักรอยุธยาสามารถรวบรวมอำนาจบางกลุ่มผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งเดียวกับตนได้สำเร็จ โดยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงใช้กุศโลบายต่าง ๆ ทั้งความสัมพันธ์เครือญาติ การปฏิรูปการปกครองไปจนถึงการใช้กำลังทหาร เพื่อผนวกเอาแคว้นสุโขทัยมาเป็นส่วนหนึ่งของอยุธยา สมัยดังกล่าวยังมีการปกครองที่เป็นปึกแผ่นมากขึ้น กระทั่งการล่มสลายอย่างสิ้นเชิงก็ไม่สามารถทำลายความรู้สึกของผู้คนตามไปด้วยได้[6] จึงนำไปสู่การเกิดใหม่ของกรุงศรีอยุธยาเป็นกรุงธนบุรีและกรุงรัตนโกสินทร์
การปกครองของไทย ในสมัยสุโขทัยเป็นแบบพ่อปกครองลูก ในสมัยอยุธยาเป็นแบบเทวราชา ก่อนจะเปลี่ยนเป็นธรรมราชาจากอิทธิพลของศาสนาพุทธต่อการเมืองการปกครอง[6] ซึ่งใช้มาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น
ภัยคุกคามจากชาติตะวันตกเป็นภัยคุกคามที่นครรัฐของคนไทยไม่เคยประสบมาก่อนจนกระทั่งสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มการปรับปรุงบ้านเมืองโดยการสร้างรัฐชาติ อันเป็นการยกระดับจากชุมทางแห่งอำนาจมาเป็นศูนย์กลางแห่งอำนาจบนดินแดนที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแทน[7] ซึ่งได้พัฒนาต่อมาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ คือ การก่อตั้งกระทรวงขึ้นเพื่อให้บริหารราชการแผ่นดินเป็นไปอย่างทันสมัย และการดึงอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ในระยะนี้เองที่เริ่มมีความพยายามเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย
ต่อมาได้มี การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นพฤตการณ์ "ชิงสุกก่อนห่าม" ในขณะที่บางส่วนตั้งข้อสังเกตว่าเกิดขึ้นช้าเกินไป อันเป็นสาเหตุของ "วงจรอุบาทว์" เพราะเกิดขึ้นช้าเกินกว่าที่ประชาธิปไตยจะพัฒนาไปอย่างมั่นคงในประเทศไทย อีกทั้งการปฏิวัติด้วยมือของคณะทหารก็ได้ทำให้การเมืองเป็นลูกไล่ของทหารและข้าราชการ
ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พลังของชนชั้นกลางเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเมืองไทยมากขึ้นซึ่งถึงแม้ว่าเขตชนบทจะให้คะแนนเสียงส่วนใหญ่มาจัดตั้งรัฐบาล แต่เสถียรภาพของรัฐบาลจะมาจากประชาชนในเขตเมือง
การขยายตัวทางการค้าระหว่างกลุ่มธุรกิจภายในประเทศ ส่งผลต่อการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจของไทยเป็นส่วนรวม การค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าภายในประเทศก็ขยายตัวกว้างขวางขึ้น กลุ่มธุรกิจที่สามารถทำกำไรจากการค้าขายของตนก็สามารถทำกำไรและสะสมทุนได้มากขึ้น ทุนหรือกำไรดังกล่าวจะช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับปรุงและพัฒนาต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่ความเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีอำนาจผูกขาดทางเศรษฐกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันก็จะทำให้ธุรกิจขนาดใหญ่นั้นมีอิทธิพลทางการเมืองควบคู่ไปด้วย นโยบายเศรษฐกิจของประเทศเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดบทบาทและอิทธิพลของธุรกิจเอกชน ในกรณีของประเทศไทยแนวนโยบายเศรษฐกิจของประเทศได้เอื้ออำนวยต่อการขยายตัวและการเติบใหญ่ของธุรกิจเอกชน ซึ่งรัฐบาลเองก็จะต้องใช้ดุลพินิจอย่างรอบด้าน


ประการแรก ประเทศไทยเป็นประเทศที่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ที่สนับสนุนการประกอบธุรกิจของเอกชนมาโดยตลอด แม้ว่าในบางช่วงเวลาในสมัยของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม  จะได้หันมาเน้นบทบาทของรัฐในทางเศรษฐกิจก็ตาม อย่างไรก็ตาม หลังปี พ.ศ. 2501 รัฐบาลได้หันมาเน้นบทบาทเศรษฐกิจของเอกชนมากขึ้น พร้อมกับให้ความช่วยเหลือการประกอบธุรกิจของเอกชนในด้านต่างๆ  อาทิเช่น การประกาศใช้กฎหมายการส่งเสริมการลงทุน โดยให้สิทธิพิเศษแก่ผู้ที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาล ในขณะเดียวกันนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่ได้กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ได้จำกัดบทบาทการของธุรกิจของรัฐวิสาหกิจมิให้แข่งขันกับเอกชน


ประการที่สอง นอกจากประเทศไทยได้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมแล้ว ยังเป็นประเทศที่เปิดกว้างในทางเศรษฐกิจทำการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศอย่างเสรี เปิดโอกาสและชักชวนให้ต่างประเทศเข้ามาลงทุนและประกอบการค้าในประเทศไทย การใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดกว้างทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยผูกพันกับระบบเศรษฐกิจโลกอย่างลึกซึ้ง ทั้งทางสังคมเศรษฐกิจและการเมือง ในปัจจุบันมูลค่าการค้าต่างประเทศเทียบกับรายได้ประชาชาติแล้วตกประมาณร้อยละ 50 ซึ่งหมายความว่าประมาณครึ่งหนึ่งของการประกอบการทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะเกี่ยวพันกับเศรษฐกิจต่างประเทศโดยตรง ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกจึงส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจในประเทศไทยได้โดยง่าย


การใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบเปิดกว้าง นอกจากจะส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตได้เร็วแล้ว ยังทำให้กลุ่มธุรกิจต่างๆ ขยายตัวเติบใหญ่ และมีบทบาทอิทธิพลในทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจผูกขาด


ประการที่สาม  เมื่อกลุ่มธุรกิจขยายใหญ่ และระบบเศรษฐกิจเจริญเติบโตมีความซับซ้อนมากขึ้น การกำกับและการควบคุมธุรกิจของรัฐบาลก็มีปัญหามากขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากระบบราชการมิได้รับการพัฒนาให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ตามไม่ทันการพัฒนาการของธุรกิจเอกชน จึงทำให้การควบคุมหรือการกำกับการทางเศรษฐกิจของรัฐบาลไม่ได้ผล และเป็นอุปสรรคต่อการประกอบธุรกิจของเอกชน ปัญหาดังกล่าวได้ทำให้รัฐบาลหันมาแก้ปัญหาด้วยการควบคุมธุรกิจเอกชนน้อยลง และหันมาแสวงหาความร่วมมือจากกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่มากขึ้น อาทิเช่น ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมภาครัฐบาลและภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศที่มีชื่อย่อว่า กรอ. ทั้งในประเทศและระดับภูมิภาค นโยบายการแก้ปัญหาเศรษฐกิจดังกล่าวแม้จะมีผลดีที่ช่วยให้แก้ปัญหาอุปสรรคของการพัฒนาเศรษฐกิจได้บ้างก็ตาม แต่ก็เป็นนโยบายที่ลดบทบาทของระบบราชการและเพิ่มบทบาทอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจในระดับต่างๆ มากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขยายอิทธิพลของกลุ่มผูกขาดในทางเศรษฐกิจ


ต้องยอมรับโดยแท้ว่า การเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจที่ได้เป็นไปอย่างรวดเร็วในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ได้มีผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างทางการเมืองด้วย กล่าวคือ ระบบการเมืองจำเป็นต้องเปิดกว้าง เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา  การเมืองในระบบแบบเปิดกว้างนี้ได้ทำให้กลุ่มธุรกิจเข้ามามีบทบาททางการเมืองโดยตรงมากขึ้น


อย่างไรก็ตาม ในแง่นโยบายเศรษฐกิจของประเทศไทย ควรยึดมั่นในหลักการเศรษฐกิจเสรีที่ต้องระมัดระวังและเข้าใจระดับของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจของไทย คือระบบเศรษฐกิจของไทยขยายตัวอย่างรวดเร็วและผูกผันกับระบบเศรษฐกิจโลกมากขึ้น มีการผลิตทางด้านอุตสาหกรรมมากขึ้นตามลำดับมีการขยายการเปิดประเทศซึ่งทำให้มีการเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศนำไปสู่การนำเข้าสินค้าและวัตถุดิบมีการขยายการเปิดมากขึ้น


นอกจากนั้นเงินและระบบการเงินก็ได้เข้ามามีอิทธิพลในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น ในขณะเดี่ยวกันการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรอย่างรวดเร็ว และการพัฒนาชุมชนเมือง มีผลให้ประชาชนตื่นตัวต่อความเจริญทางด้านวัตถุและต้องการสินค้าบริการต่างๆ เพิ่มขึ้น  และการที่ประเทศไทยมีนโยบายทางเศรษฐกิจที่เน้นระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม เปิดกว้างให้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศโดยเสรี มีการสนับสนุนธุรกิจเอกชน ทำให้กลุ่มธุรกิจขยายตัวเจริญเติบโตและมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ในขณะที่ระบบราชการยังอ่อนแอ รัฐบาลอาจต้องประสบปัญหาการกำกับและการควบคุมธุรกิจ ดังนั้น รัฐบาลต้องควบคุมองค์ประกอบและกลไกของระบบการเมืองเพื่อทำให้การเมืองนิ่งและมุ่งแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศต่อไป


เพราะขณะนี้ไม่ว่าโครงสร้างทางสังคมและอำนาจการต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ที่มีอยู่ อาทิเช่น กลุ่มศักดินา กลุ่มทหารข้าราชการ กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจ กลุ่มเกษตรกร กลุ่มผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ซึ่งต่างมีอำนาจการต่อรองแตกต่างกันออกไป แต่กลุ่มต่างๆเหล่านี้ก็จะมีบทบาทและอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายและการทำงานของรัฐบาลในอันที่จะตอบสนองผลประโยชน์ของตน องค์กรนิติบัญญัติ บริหารและตุลาการ กลุ่มอิทธิพลที่มีบทบาทในการควบคุมองค์กรต่างๆเหล่านี้ก็จะสามรถใช้อำนาจในการกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศเพื่อประโยชน์ในกลุ่มของตน  


และสุดท้ายผลกระทบจากการกำหนดนโยบายและการบริหารงานของรัฐบาล  ซึ่งย่อมจะตกแก่ประชาชนทั่วไป คือประชาชนทุกคนต่างต้องการสิ่งจำเป็นพื้นฐาน คือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน การกินดีอยู่ดีและการมีสิทธิเสรีภาพด้วยกันทั้งนั้น แต่ก็เป็นเรื่องยากที่ประชาชนกลุ่มต่างๆ จะได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินนโยบายและการบริหารประเทศของรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน